ปัญหาอาการปวดเข่าของนักกอล์ฟ


ปัญหาอาการปวดเข่าของนักกอล์ฟ

        แม้ว่ากีฬากอล์ฟจะไม่ใช่กีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะ แต่อาการบาดเจ็บก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะต้องใช้สมรรถภาพของร่างกายที่สูงมาก ปัญหาอาการบาดเจ็บของหัวเข่า เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักกอล์ฟกำลังประสบปัญหากันอยู่หลายท่าน ถึงแม้อาการบาดเจ็บจะไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็ต้องดูแลรักษากันอย่างถูกวิธีเพื่อผลดีในระยะยาว ไม่ว่าอาการบาดเจ็บนั้นจะมาจากภาวะข้อเข่าเสื่อมตามวัย หรือเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการเล่นกอล์ฟ ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของนักกอล์ฟทั้งสิ้น

        กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่มีอายุเฉลี่ยของผู้เล่นมากกว่ากีฬาชนิดอื่น อาการบาดเจ็บที่หัวเข่ามักมีสาเหตุมาจากการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆในการสวิง ประกอบกับการบิดตัว แรงกดทับจากการก้มตัว ย่อเข่า ยืนคร่อมลูกในพื้นที่ต่างระดับ ซึ่งทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดแรงดันต่อข้อเข่า ในขณะที่กล้ามเนื้อรอบๆจะหดเกร็งเพื่อเพิ่มแรงหวด หากนักกอล์ฟบางท่านมีน้ำหนักตัวที่มาก แรงกดดันข้อเข่าก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว


        การสังเกตอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า หากหลังจากที่นั่งเป็นเวลานานแล้วยืนขึ้น จะรู้สึกเจ็บบริเวณหัวเข่า รู้สึกปวดแปลบๆเวลาเดินขึ้น-ลง หรือเมื่อยืนนานๆก็จะมีอาการเจ็บ ล้า หรือขัดบริเวณเข่า มีรอยช้ำที่เข่าหรือบวมขึ้นมา หากอาการร้างแรงจะสังเกตได้ว่าเข่าบวมผิดรูปร่าง ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการอย่างถูกวิธีต่อไป


        วิธีการป้องกันอาการบาดเจ็บ

          1 ควบคุมน้ำหนักหากนักกอล์ฟมีน้ำหนักเกิน เพราะข้อเข่ารับน้ำหนักและแรงกดทับที่มาก

          2 หลีกเลี่ยงท่าทางที่จะเพิ่มแรงกดทับให้กับหัวเข่าเช่น นักคุกเข่า นั่งทับขา นั่งยองๆ ยืนนานๆ การเล่นกีฬาประเภทยกน้ำหนัก

          3 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อเข่าและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อเข่า

          4 เมื่อเกิดอาการปวดเข่ามาก ควรลดการใช้หัวเข่า หรือสวมที่พยุงเข่าเพื่อลดแรงเสียดสีของผิวข้อเข่า

          5 ฝึกกล้ามเนื้อหัวเข่าอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เมื่ออาการปวดเข่าเริ่มดีขึ้น

          6 ควรปรึกษาแพทย์เมื่ออาการยังไม่รุนแรง เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง

          7 เลือกสวมรองเท้าสำหรับเล่นกอล์ฟ เพื่อช่วยลดแรงกดที่หัวเข่าในขณะที่นักกอล์ฟทำการบิดตัวเพื่อตีลูก

          8 หยุดพักออกรอบสักระยะ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูตัวเอง ลดการเกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่าเดิม
No comments yet
ความคิดเห็น

คุณอาจชอบ

^