ปัญหาของเท้าที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟ



ปัญหาของเท้าที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟ

        ความสมดุลของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญในการสวิงกอล์ฟ เท้าทั้งสองข้างต้องยืนอย่างมั่นคง หากเท้าของท่านนักกอล์ฟเกิดปัญหา อาจส่งผลให้วงสวิงผิดเพี้ยนไปได้ ปัญหาของเท้าที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟมีอยู่หลายประเภท บางโรคอาจรักษาให้หายเองได้ แต่บางโรคอาจต้องเข้าปรึกษาแพทย์โดยตรง ซึ่งปัญหาของเท้าที่จะพบได้บ่อยมีดังนี้

        1. ตาปลา เป็นโรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็กๆ และมักมีอาการเจ็บเพราะอักเสบ โรคนี้เกิดจากมีการเสียดสีเรื้อรังของผิวหนัง รักษาโดยการตัดหนังส่วนนั้นทิ้ง หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นให้ตาปลานิ่มจึงใช้ยาทาละลายขุย หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่คับแน่น

        2. หูด เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาของผิวหนัง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสตระกูล Papillomavirus ที่ผิวหนังและเยื่อบุ จะเกิดอาการเจ็บถ้าหูดขึ้นที่ฝ่าเท้า สามารถรักษาโดยใช้ยาละลายขุยทา จี้ด้วยเลเซอร์ หรือทำการผ่าตัด แต่สามารถกลับมาเป็นได้อีก จึงควรป้องกันด้วยการไม่ใช่เครื่องแต่งกายร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่เป็นหูด
       
        3. โรคน้ำกัดเท้า โรคที่มีอาการคันซึ่งเกิดจากเชื้อราที่เท้า เมื่ออากาศร้อนๆ และเท้าชื้นมากๆ ประกอบกับมีเหงื่อออกมากด้วยจึงเป็นบ่อเกิดของเชื้อรา ที่จะเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดีมากในอากาศร้อนชื้น สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา และรักษาความสะอาดในบริเวณเท้าอยู่เสมอ

        4. เล็บขบ คือ ภาวะที่มีปลายเล็บทิ่มเข้าบริเวณผิวหนังที่ปลายเล็บ จะเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อข้างเล็บทำให้เกิดอาการเจ็บปวด มักจะเกิดที่ด้านนอกของนิ้วเท้า และหากไม่รักษาจะเกิดการงอกของเนื้อเยื่อขึ้นมา มีหนองไหล สามารถรักษาได้ด้วยการทำความสะอาดเล็บเท้าอยู่เสมอ หากเริ่มติดเชื้อให้ทานยาปฏิชีวนะ และรีบปรึกษาแพทย์หากอาการยังไม่ดีขึ้น

        5. เลือดออกใต้เล็บ เกิดจากการที่เล็บได้รับแรงกดหรือแรงกระแทกแรงๆ ทำให้เกิดเลือดออกใต้เล็บ อาจมีอาการปวดมาก ปล่อยไว้สักระยะก็จะค่อยๆหายไปเอง เพราะเส้นเลือดจะดูดซึมเลือดเหล่านี้กลับไปได้ แต่ถ้าเกิดอาการปวดมาก ก็สามารถเจาะเล็บให้เป็นรูเพื่อระบายเลือดออกได้

        6. ปวดบริเวณส้นเท้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อเท้า เส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ กระดูกงอกที่ฝ่าเท้าหรือที่เส้นเอ็นร้อยหวาย กระดูกเท้าบิดผิดรูป โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือ กระดูกหัก เป็นต้น รักษาได้ด้วยการใช้รองเท้าที่มีพื้นรองเท้านุ่มๆ หรือใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหากอาการแย่ลง

        7. เอ็นร้อยหวายอักเสบ เกิดจากเท้าทำงานหนักมากเกินไป จึงเกิดอาการปวดบริเวณเอ็นเวลาที่มีการเคลื่อนไหว สามารถรักษาได้โดยงดให้เท้าเคลื่อนไหวจนกว่าอาการจะดีขึ้น ใช้ผ้าพันเท้าไว้ และฝึกการยืดกล้ามเนื้อ อาจต้องปรึกษาแพทย์หากอาการยังไม่ทุเลา

        8. เส้นประสาทผิดปกติ อาการจะรู้สึกชาๆ เจ็บแปลบ ความเจ็บอาจจะแล่นไปจากปลายเท้าถึงข้อเท้า จะรู้สึกดีเมื่อถอดรองเท้า หรือนวดเท้า การรักษาทำได้โดยใช้รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าหนานุ่ม ใช้ผ้าพันเท้า ใช้ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ อาจต้องพบแพทย์เพื่อฉีดยา หรือทำการผ่าตัด
No comments yet
ความคิดเห็น

คุณอาจชอบ

^